หมุดก่อเกิด รัฐธรรมนูญบนผิวถนน
บนถนนราชดำเนินที่ชาวราษฎร์ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง มาเป็นเวลายาวนานถึง 74 ปีในปีนี้ (พ.ศ. 2549) บางช่วงของผืนถนนถูกฉาบไว้ด้วยคราบน้ำตา คราบเลือด และร่างไร้วิญญาณ บนการเรียกร้องการปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน ต่อเมื่อได้รัฐธรรมนูญแล้วกลิ่นคาวเลือดดูจะจืดจางลง จางลงไปเรื่อยๆ แต่เมื่อคราใดที่เกิดความไม่ชอบธรรมขึ้นกับการปกครองในระบบประชาธิปไตย กลิ่นคาวเลือดที่แห้งหายจากถนนสายนี้ กลับพลิกฟื้นคืนร่างให้สีถนนแดงชาดอีกครั้ง
และสิ่งหนึ่งที่ตรึงตอกอยู่บนถนนสายนี้เป็นเวลายาวนานเท่ากับการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นคือ หมุดคณะราษฎร
การปกครองของไทยเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ (รัฐ + ธรรม + มนูญ คือ การปกครองรัฐอย่างถูกต้องเป็นธรรม) โดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
ภายหลังการปฎิวัติ คณะราษฎรได้สร้างหมุดแห่งการปฏิวัติขึ้น เป็นหมุดทองเหลืองขนาดเล็กฝังอยู่บริเวณด้านข้าง ลานพระบรมรูปทรงม้าฝั่งสนามเสือป่า ซึ่งเป็นจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนายืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 แก่เหล่าทหารเพื่อเป็นสักขีพยานต่อการทำการปฏิวัติครั้งนั้น
เนื้อความบนหมุดจารึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีข้อความว่า “ ณที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”
ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาฯโปรดเกล้าพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นครั้งแรกภายหลังที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นวันแรกของการฉลองรัฐธรรมนูญ โดยในปีแรกนี้ จัดขึ้น 3 วัน นอกจากงานพระราชพิธีแล้วยังมีงานมหรสพต่างๆซึ่งจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง
งานฉลองรัฐธรรมนูญถูกจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความสำคัญต่อการให้ความรู้ ความเข้าใจต่อประชาชน ในเรื่องของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรศึกษาและทำความรู้จัก ภายหลังที่การปกครองถูกเปลี่ยนมือจากกษัตริย์มาเป็นประชาชนด้วยกันเอง งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นงานที่นอกจากจะให้ความรื่นเริงดั่งเทศกาลประจำปีทั่วไปแล้ว ยังมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ และทำความหมาย ความเห็นให้ตรงเพื่อการปกครองที่เสมอภาค
ภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ภัยธรรมชาติ และกรณีการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นภาวะที่ทำให้งานฉลองรัฐมนูญที่เคยจัดขึ้นใหญ่โต ซบเซาลง จนถึงจุดมืดบอดเมื่อ อำนาจเผด็จการเข้ามาในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และทำการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในครั้งนี้ แนวความคิด แบบอนุรักษ์นิยมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอีกครั้งหนึ่ง วันฉลองรัฐธรรมนูญกลายเป็นวันที่มีความหมายเพียง 1 วันหยุดราชการและการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จประปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
49 ปีแล้ว ที่การให้ความรู้ถูกตัดช่วง หรือนี่เป็นสิ่งสมควรต่อประชาชนผู้ไม่พร้อมรับการปกครองโดยประชาชนด้วยกัน หาใช่...นี่คือการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้นำประเทศที่เกิดขึ้น เฟื่องฟูขึ้นพร้อมๆกับการงอกงามอีกครั้งของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
การเข้าถึงในเรื่องของการศึกษาระบอบรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเรื่องพิธีกรรมและความซับซ้อนที่ยากจะเข้าถึงได้โดยง่าย แท้ที่จริงมันเป็นเช่นนั้นหรือ
ไม่ต่างกัน
การก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญโดยคนกลุ่มหนึ่ง ผู้ที่ทำให้การเมืองทุกวันนี้ เป็นการปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน กำลังเลือนหายไปจากความทรงจำ
หมุดคณะราษฎร เป็นอนุสรณ์แห่งการปฏิวัติหรือบาดแผลของการเมืองการปกครองของไทยกันแน่
ประวัติศาสตร์การเมืองควรเริ่มต้นศึกษาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง คือวันก่อเกิดรัฐธรรมนูญ มิใช่วันที่เกิดรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น
หากแต่ติดตรงที่ว่า การก่อเกิดรัฐธรรมนูญนี้ เกิดขึ้นจากมือไพร่ มิใช่เจ้า ความสำคัญจึงพร้อมจะเลือนหาย
หากจะกล่าวถึงศิลปะที่เกิดขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชิ้นที่มีความสำคัญมากที่สุด คงหนีไม่พ้นหมุดทองเหลืองดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นที่เคียงขนานกับพระบรมรูปทรงม้า ฝังตรึงเพื่อตอกเตือนความหมายที่แท้ของการปกครองที่ทำให้ทุกวันนี้ คนเรามีสิทธิเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น
หมุดคณะราษฎร 2475 คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงบทบาทที่มีส่วนในการปกครองประเทศไทยทั้งในทางนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการที่มีรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายต่างๆเป็นข้อตกลงร่วมกันในข้อปฏิบัติของผู้คนในประเทศ
งานศิลปะหลัง พ.ศ. 2475 อันเกิดจากวาระสำคัญและโอกาสพิเศษของชาติจึงเกิดขึ้นเพื่อความเป็นประชาธิปไตยเสียส่วนใหญ่ อันได้แก่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงหมุดคณะราษฎร 2475 นี้ด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงอำนาจอธิปไตยที่มุ่งเน้นให้ประชาราษฎร์สามารถปกครองกันเองได้ หาใช่การปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชอีกแล้ว
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ วันรัฐธรรมนูญจะมิใช่วันที่รัฐจะให้ความสำคัญถึงขั้นมีงานฉลองดังแต่ก่อน และแม้ว่าจุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญจะจมฝังถนน รองรับรอยย่ำแห่งกาลเวลา ทว่า ไม่มีสิ่งใดสามารถลบเลือนสิ่งที่เกิดขึ้นได้ นั่นคือ ความเสมอภาคในการมีส่วนร่วมกันในการปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 74 ปีก่อน หากแต่เพียงว่าวันนี้ เราใช้สิทธินั้นกันหรือยัง
***หมายเหตุ
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” และมีรัฐธรรมนูญฉบับอื่นตามลำดับคือ
1.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
4.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
5.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
6.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
7.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
8.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
9.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
10.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
11.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
12.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
13.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
14.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
15.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
16.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และได้ยุติโดยรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549
17.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549
1 Comments:
เมื่อไรเต็มที่เสียทีวะ
ประชาธิปไตยโว้ย
กูรอ มึงอยู่นะ
แมวหมา
Post a Comment
<< Home